คำว่า Metabolically healthy ถูกกล่าวขึ้นมาครั้งแรกโดย Dr. James Levine เพื่ออธิบายถึงความสมบูรณ์ของระบบเผาผลาญ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอีกมากมาย
คำนี้ถูกใช้อธิบายถึงความสามารถของร่างกายในการเผาผลาญอาหารเป็นพลังงาน หรือที่เรียกว่าเมตาบอลิซึม (metabolism) โดยอ้างอิงจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน ที่จะดูว่าเรามีเมตาบอลิซึมดีหรือไม่ เพราะในปัจจุบัน เราเริ่มพบข้อมูลมากขึ้นว่า ถึงจะผอม ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคได้ หากเมตาบอลิซึมผิดปกติ การดูแค่น้ำหนักตัวหรือรูปร่างอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอครับ
ลองมาดูเกณฑ์ที่ชี้วัดว่าเรามี metabolically healthy กัน ตามด้านล่างนี้ครับ
=============================================
ต้องไม่มีภาวะอ้วนลงพุง วัดรอบเอวในผู้ชาย ไม่เกิน 90 ซม และในผู้หญิงไม่เกิน 80 ซม ครับ (ถ้าเป็นคนเชื้อสายยุโรป ผู้ชายจะไม่เกิน 102 ซม และผู้หญิงไม่เกิน 88 ซม)
ต้องไม่มีสัญญาณเตือนของภาวะเมตาโบลิกผิดปกติ – ความดันโลหิตไม่สูง ไขมันปกติ ไม่มีปัญหาน้ำตาล และเดี๋ยวนี้มีการวิเคราะห์การอักเสบร่วมด้วย (ค่า hs-CRP) ต้องไม่สูงครับ
ไม่มีภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นความเสี่ยงโดยตรงของโรคเบาหวาน นิยมใช้ค่า HOMA-IR ครับ
และสุดท้าย สมรรถภาพของร่างกายดี ภาษาง่ายๆ คือมีความฟิตของร่างกาย หัวใจและปอดปกติ
=============================================
ดังนั้นถ้าจะมาดูว่ามีการตรวจอะไรที่ช่วยให้เราประเมินเมตาโบลิกของร่างกายได้บ้าง ก็จะมีการตรวจร่างกายพื้นฐาน น้ำหนักตัว เช็ครอบเอว ความดันโลหิต และตรวจแล็บกลุ่มน้ำตาล ไขมัน คอเรสเตอรอล ค่าการอักเสบ ฮอร์โมนอินซูลิน เป็นพื้นฐานครับ
ที่น่าสนใจก็คือ มีงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าโดยรวมภาวะโรคอ้วนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด เพราะแม้ว่าผลตรวจสุขภาพจะปกติ แต่หากมีภาวะอ้วนลงพุงแล้ว ความเสี่ยงโรคเรื้อรังก็ยังสูงกว่าปกติ
การดูแลป้องกันโรค เราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องน้ำหนักนะครับ ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และอย่าปล่อยให้น้ำหนักขึ้นจนเกินควบคุมกันนะครับ
#healthymetabolism #healthyweight #wellnesslifestyle #preventivehealth
=============================================
Dr. Art
CHEKLAB.me
“We Measure What Matters”
=============================================
Ref:
Stefan N, et al. Lancet Diabetes Endocrinol, October 2013
Ziyi Zhou, et al. Diabetologia, March 2021