โรคอ้วนเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบัน และยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆในระยะยาว การจัดการภาวะนี้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง
การตรวจสุขภาพหรือตรวจแล็บ เป็นตัวช่วยที่ดีในการวางแผนลดน้ำหนัก ให้คุณได้ทำความเข้าใจปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ของตัวเองได้มากขึ้น เพื่อช่วยในการวางแผนเฉพาะบุคคลอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
เราจะมาทำความเข้าใจการตรวจแล็บพื้นฐานที่จำเป็น ก่อนเริ่มต้นการลดน้ำหนักอย่างจริงจังกันครับ
---------------------------------
ตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงโรคเบาหวาน และภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance)
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร 8 ชั่วโมง เป็นการตรวจพื้นฐานที่นิยม ระดับที่ดีเลย (Optimal range) คืออยู่ในช่วง 80-84 mg/dL หากระดับเกินกว่า 100 mg/dL ก็เรียกได้ว่ามีความเสี่ยง (Pre-Diabetic) หรือหาก 126 mg/dL ขึ้นไป อาจบ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน และยังสามารถตรวจระดับฮอร์โมนอินซูลินเพื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำตาลได้อีกด้วย เพื่อประเมินสิ่งที่เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน ผ่านการคำนวณง่ายๆ HOMA-IR score โดยใช้สูตรนี้ (Glucose x Insulin)/405 หากคำนวณมาได้เกิน 2 เรียกว่าเริ่มเสี่ยงแล้วครับ
สามารถเข้าเว็บตัวอย่างนี้เพื่อกรอกข้อมูลให้คำนวณออกมาอันโนมัติเลยก็ได้ครับ HOMA-IR (Homeostatic Model Assessment for Insulin Resistance) - MDCalc
เท่านี้เองก็จะรู้ความเสี่ยงโรคเบาหวานของตัวเองแล้วครับ
---------------------------------
ตรวจวิเคราะห์ไขมันและคอเรสเตอรอล (Lipid Profile)
การตรวจองค์ประกอบของไขมันในเลือด จะช่วยให้ทราบระดับไขมันแต่ละตัวว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ แม้ว่าคอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆของร่างกาย ระดับที่ผิดปกติ อาจจะมีผลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเรื้อรังอื่นๆได้
ปกติแล้วจะเป็นการตรวจระดับไขมันในเลือด ประกอบด้วย Total Cholesterol, Triglyceride, HDL และ LDL จะขออธิบายคร่าวๆให้ทำความเข้าใจกันครับ
ระดับคอเลสเตอรอล เป็นการวิเคราะห์ภาพรวมของปริมาณทั้งหมดในเลือด โดยปกติจะไม่ควรเกิน 200 mg/dL อย่างไรก็ตามถือเป็นตัวชี้วัดพื้นฐานเท่านั้น เพื่อให้ประเมินได้ละเอียดขึ้น จำเป็นต้องไปดูระดับคอเลสเตอรอลอื่นๆร่วมด้วย
LDL-c เป็นการตรวจวัดคอเลสเตอรอลที่เป็นกลุ่มไม่ดี พบข้อมูลว่าสัมพันธ์กับปัญหาหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เราพบข้อมูลเพิ่มขึ้นว่า LDL ด้วยตัวมันเอง ตัวที่น่ากังวลกว่าก็คือ LDL ตัวเล็ก (small LDL particle) ซึ่งมีโอกาสเข้าไปก่อให้เกิดปัญหาหลอดเลือดตีบได้มากกว่า LDL ตัวใหญ่ ( large LDL particle) การตรวจ LDL-c พื้นฐานเอง ยังไม่อาจแยกขนาดของ LDL ได้ แต่ก็มีตัวช่วยประเมินง่ายๆอยู่ครับ เราสามารถประเมินสัดส่วนของ Triglyceride/HDL-c ได้ หากระดับสูงเกินกว่า 2 ก็อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่จะมี LDL ตัวเล็กๆเกินมาตรฐานได้
ปัจจุบัน คำแนะนำระดับ LDL-c ที่เหมาะสม ขึ้นกับหลายปัจจัยสุขภาพ แต่ระดับที่ดี แนะนำให้ไม่เกิน 130 mg/dL หรือ <70 mg/dL ยิ่งดีครับ
HDL-c รู้จักกันว่าเป็นคอเลสเตอรอลดี เพราะพบข้อมูลว่าช่วยปกป้องร่างกายต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จากกลไกที่ไปช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย ปกติแล้วในผู้หญิง ควรมีระดับไม่น้อยกว่า 50 mg/dL และไม่น้อยกว่า 40 mg/dL ในผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผิดนึงว่ายิ่งเยอะยิ่งดี เพราะเป็นคอเลสเตอรอลดีอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดครับ ระดับที่สูงเกินไปอาจจะเป็นผลเสียเช่นกัน เพราะอาจจะส่งผลในทางตรงกันข้าม เรียกว่า dysfunctional HDL หากระดับสูงเกินกว่า 80 mg/dL ขึ้นไป อาจจำเป็นต้องประเมินปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆร่วมด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาว
Triglycerides (TGs) หรือไขมันในเลือด คำนี้เป็นคำที่ถูกต้องจริงๆครับ ปกติคนมักจะเรียกคอเลสเตอรอลว่าเป็นไขมัน แต่ไขมันจริงๆก็คือ triglycerides ครับ ไขมันเองเป็นสารอาหารสำคัญที่ให้พลังงานกับร่างกาย แต่ที่น่าสนใจคือ ระดับไขมันในเลือดเองนั้น ขึ้นกับกระบวนการสันดาปในร่างกายเป็นส่วนใหญ่ มากกว่าจากการรับประทานโดยตรง และหากจะเชื่อมโยงกันกับอาหาร มักจะแปรผันกับระดับอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเป็นหลักครับ จึงนิยมใช้ระดับไขมันเพื่อประเมินภาวะที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาล เช่น ภาวะดื้ออินซูลิน ที่บรรยายข้างต้นไปครับ ระดับของ TGs ที่ดีควรไม่เกิน 150 mg/dL และในคนปกติเอง ส่วนใหญ่แล้ว ระดับที่ตรวจวัดได้มักไม่เกิน 100 mg/dL
Tips: การหาสัดส่วนไขมันที่สำคัญ
Total chol/HDL ratio ควร < 3.5
TG/HDL ratio ควร <2
LDL/HDL ratio ควร <2.5
---------------------------------
ตรวจวิเคราะห์การทำงานของตับ
ตับเป็นส่วนนึงของระบบทางเดินอาหาร มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง จะขออธิบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำหนักเกินก่อนนะครับ ปัญหาที่พบได้บ่อยร่วมกันกับภาวะน้ำหนักเกินคือการอักเสบของตับ สาเหตุหลักก็เกิดจากการที่มีไขมันสะสมเพิ่มขึ้น ไปรบกวนการทำงานปกติของตับ เรียกภาวะนี้ว่าโรคไขมันเกาะตับ (Fatty liver) พบว่าเมื่อระดับไขมันสะสมเกินกว่า 5-10% ในตับ ก็จะสามารถตรวจวัดได้ เช่น จากการอัลตราซาวน์ การตรวจระดับเอนไซม์ตับ AST, ALT และ GGT เป็นการประเมินการอักเสบที่เกิดขึ้น และเป็นตัวช่วยบ่งชี้ปัญหาไขมันเกาะตับ แต่จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าหลายๆครั้งระดับเอนไซน์ก็อาจจะยังอยู่ในค่าปกติ แม้ว่าจะมีปัญหานี้เยอะแล้วก็ตาม จึงแนะนำใช้เป็นตัวช่วยในการประเมินร่วมกับการตรวจอื่นครับ ระดับ AST ช่วงที่เหมาะสมคือ 10-30 U/L ค่า ALT ที่ 0-30 U/L และ GGT ไม่เกิน 30 U/L ครับ
---------------------------------
ตรวจวิเคราะห์การทำงานของต่อมไทรอยด์
ฮอร์โมนไทรอยด์มีบทบาทสำคัญต่อระบบเผาผลาญ หน้าที่สำคัญคือช่วยในการสลายไขมัน ภาวะไทรอยด์ต่ำจึงมีผลต่อโรคอ้วน ภาวะนี้สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ตัวสำคัญ TSH, T4 และ T3 และเนื่องจากระดับไทรอยด์มีช่วงปกติที่กว้าง การประเมินระดับร่วมกับอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีอาการน้ำหนักขึ้นง่าย อ่อนเพลีย ขี้หนาว ท้องผูก ไม่มีสมาธิ เชื่องช้า อาจเป็นสัญญาณของไทรอยด์ต่ำผิดปกติ ซึ่งเมื่อตรวจเลือด ก็อาจจะพบระดับ TSH ที่สูงขึ้น ร่วมกับระดับ T3, T4 ที่ต่ำลงได้
TSH ระดับที่ดีอยู่ในช่วง 0.4-2.5 IU/ml, free T4 0.9-1.8 ng/dL และระดับ free T3 1.9-4.9 pg/ml
---------------------------------
และสุดท้าย วิเคราะห์ระดับวิตามินดี
ปัจจุบัน การตรวจระดับวิตามินดีเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องด้วยปัจจัยการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทำให้คนส่วนใหญ่มีภาวะขาดวิตามินดีได้ง่าย ปัญหานี้ยากต่อการวินิจฉัย เนื่องจากไม่ค่อยมีอาการ ยังพบอีกว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือเริ่มมีปัญหาน้ำตาลสูง มีความเสี่ยงการขาดวิตามินดีเพิ่มขึ้นมากกว่าคนทั่วไป ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิตามินดีถูกพูดถึงกันมาก ไม่เพียงแต่เรื่องของกระดูก แต่ในเรื่องโรคอ้วนด้วย เพราะมีข้อมูลพบว่าวิตามินดีมีผลต่อการลดน้ำหนักจากหลายๆกลไก เช่น ช่วยเรื่องการทำงานของอินซูลิน ช่วยลดการอักเสบ และลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
การตรวจวัดระดับวิตามินดี จึงสามารถช่วยในการวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างตรงจุด ระดับวิตามินดี (25-hydroxy vitamin D) ไม่ควรต่ำกว่า 20 ng/mL และระดับที่ดี (optimal range) ควรอยู่ระหว่าง 50-70 ng/ml
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่การชั่งน้ำหนักร่างกายเพียงอย่างเดียว ก่อนวางแผนการลดน้ำหนัก หากได้วิเคราะห์สุขภาพพื้นฐาน ก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญเหมาะกับตัวเราเองที่สุด ตามหลักการดูแลแบบเฉพาะบุคคลครับ
CHEKLAB.me เราเป็นแหล่งรวมการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน หลากหลายรูปแบบตามปัญหาของแต่ละบุคคล พร้อมที่ปรึกษาสุขภาพที่มีประสบการณ์ ให้บริการใกล้บ้านคุณแล้ววันนี้
===============================
สนใจการตรวจสุขภาพเพื่อวางแผนการลดน้ำหนัก
ติดต่อ Line: @cheklab.me หรือโทร 080-8228593
หรือ รายละเอียดการตรวจที่แนะนำ https://bit.ly/3BLTd3q